ธปท.เปิดทางเวอร์ชวลแบงก์ หนุนธุรกิจแบงก์-น็อนแบงก์ลดต้นทุน

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

ธปท.เปิดรับฟังความคิดเห็น “ภูมิทัศน์การเงิน” เกาะกระแสดิจิทัล-กรีน-ผู้เล่นรายใหม่ ถึง 28 ก.พ.นี้ ก่อนออกเกณฑ์กำกับที่ชัดเจน ย้ำเน้นสร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรม-ความเสี่ยง เตรียมทบทวนโครงสร้างราคาบริการชำระ “เงินสด-เช็ค” หวังช่วยลดใช้เงินสดในอัตราเร่งเป็น 2 เท่า ใน 3 ปี-ลดใช้เช็คกระดาษเหลือต่ำกว่า 50% ใน 5 ปี พร้อมเตรียมยกร่างหลักเกณฑ์อนุมัติจัดตั้ง Visual Bank เปิดทางทั้งผู้เล่นรายเก่า-รายใหม่

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ออกแนวทางของภูมิทัศน์การเงิน (Financial Landscape Consultation Paper) เพื่อหารือและเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้อง ถึงสิ่งที่อยากเห็นและไม่อยากเห็น (Red line-Green line) เพื่อหาคำตอบและกำหนดทิศทางการกำกับดูแลในอนาคต

โดยหลักการคือรักษาสมดุลระหว่างนวัตกรรมและความเสี่ยง ซึ่งแนวทางการดูแลความเสี่ยงจะพิจารณาว่าอะไรที่มีความเสี่ยงมากก็ต้องกำกับอย่างเข้มข้นแต่หากไม่เสี่ยงมากก็มีการผ่อนปรนได้ หรืออะไรที่ไม่แน่นอน ความเสี่ยงไม่ชัด ก็จำเป็นต้องมีราวกั้น สำหรับของใหม่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น สินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งหมดนี้เพื่อมาดูแลผลประโยชน์เพื่อส่วนรวม

“ระบบการเงินไทยเจอความเปลี่ยนแปลงเยอะ ธปท.ก็ต้องปรับตัวทั้งนโยบายการกำกับและนโยบายการเงินตามการเปลี่ยนแปลง โดยมี 3 สิ่งที่เราเจอ ทำให้ต้องปรับตัวเยอะมาก ซึ่งภูมิทัศน์การเงินจะเป็นสิ่งที่เราอยากหาจุดสมดุลระหว่างนวัตกรรมและความเสี่ยง” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ทั้งนี้ ภายใต้โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมี 3 สิ่งที่ ธปท.ให้ความสำคัญ เพื่อรักษาความสมดุลระหว่างนวัตกรรมและความเสี่ยง ได้แก่ กระแสดิจิทัล กระแสสีเขียว และผู้เล่นหน้าใหม่ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเห็นได้จากการเติบโตจากโมบายแบงกิ้งและอินเทอร์เน็ตแบงก์จาก 36 ล้านบัญชี เพิ่มเป็น 121 ล้านบัญชี

โดยปริมาณการโอนเงินเพิ่มสูงขึ้นถึง 18 เท่า โดยมีการโอน 300 ครั้งต่อคนต่อปี และมีปริมาณการโอนเงินผ่านโมบายแบงกิ้งและอินเทอร์เน็ตเพิ่มเป็น 14,400 ล้านรายการ จาก 800 ล้านรายการ ขณะที่โลกเดิมหดตัว โลกใหม่เติบโต โดยจะเห็นได้จากสาขาธนาคารปิดตัวไป 1,400 แห่ง

ขณะเดียวกันกระแสจากสิ่งแวดล้อมเห็นเงินไหลเข้ากองทุนด้านสิ่งแวดล้อม (ESG Funds) เพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปี มีมูลค่าเติบโตเป็น 10 เท่า และมากกว่า 50% ของกองทุนจะลงทุนใน Net Zero Carbon ในปี 2593 โดยประมาณ 60% จะถูกกระทบจากมาตรการทางการค้าของยุโรป

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ส่วนผู้เล่นหน้าใหม่นั้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่าสินเชื่อรายย่อยประมาณ 40% เติบโตมาจากผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) เมื่อเทียบกับธนาคารดั้งเดิมเติบโต 24% และมี 500% เติบโตจากสินเชื่อทั่วโลกที่ปล่อยโดยฟินเทค และบิ๊กฟินเทคมีการเติบโตถึง 4,000%

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า จะเปิดรับฟังความคิดเห็นแนวทางของภูมิทัศน์การเงินตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2565 จากนั้นจะรวบรวมความคิดเห็นและกำหนดหลักเกณฑ์ออกมา โดยตัวอย่างที่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น เช่น การเปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่และรายเก่าจัดตั้งสถาบันการเงินที่ไม่มีสาขา (Visual Bank) ที่มีต้นทุนถูกกว่า 1 ใน 3 ของธนาคารแบบดั้งเดิม

“ภายในครึ่งปีแรกจะออกร่างหลักเกณฑ์ หลังจากรวบรวมความคิดเห็นแล้ว ซึ่งจะพิจารณาทั้งผู้เล่นรายเก่าและรายใหม่ และการทบทวนโครงสร้างราคาบริการชำระเงิน โดยเฉพาะเงินสดและเช็ค โดย ธปท.จะมีการหารือและสรุปโครงสร้างค่าธรรมเนียมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องภายในปี 2565

และกำหนดแผนการปรับค่าธรรมเนียมโดยเฉพาะการใช้เงินสดและเช็คต่อไป เพื่อลดการใช้เงินสดด้วยอัตราเร่งเป็น 2 เท่า ภายใน 3 ปี และลดใช้เช็คกระดาษให้เหลือไม่ถึง 50% ของปริมาณที่ใช้ในปัจจุบันภายใน 5 ปี เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้ดิจิทัลและเข้าสู่ less-cash society” ดร.รุ่งกล่าว

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance